ประชุมวิชาการ เวทีพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน ปี 2562
การจัดการสุขภาพใหม่ เพื่อเผชิญ NCDs ท่ามกลางสังคมพลวัต Transformative Management for People-centered Care under Dynamic Society
ระหว่างวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน2562 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร |
บทนำ
ในปี 2521 ที่เมืองอัลมา อตา สหพันธรัฐรัสเซีย ได้มีแถลงการณ์ที่เรียกว่า คำประกาศอัลมา อตา (Alma Ata Declaration) ซึ่งระบุว่า“การสาธารณสุขมูลฐาน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อความยุติธรรมในสังคม และเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าได้ ซึ่งตลอด เวลาที่ผ่านมาการสาธารณสุขมูลฐาน ของไทยมีพัฒนาการเรื่อยมา แต่เป้าหมายสูงสุดยังคงเดิมคือ การมีสุขภาพดีของทุกคน ซึ่งแนวคิดและหลักการนี้ได้มี การต่อยอดเป็นแนวทางการพัฒนาสุขภาพใหม่ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการทำงานพัฒนาสุขภาพชุมชนโดยการริเริ่มของท้องถิ่น ชุมชนมากขึ้น เพื่อตอบสนองความท้าทายด้านสุขภาพและสังคมที่กำลังเติบโต บวกกับ นโยบาย กลไก และแนวทางการ ทำงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่านโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การเกิดขึ้นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมากกว่าเดิม ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการปฐมภูมิซึ่งเป็นหน่วยบริการ ที่อยู่ใกล้บ้านและทำงานร่วมกับชุมชน การดูแลสุขภาพ ปฐมภูมิเน้นการดูแลแบบองค์รวม คือดูแลคนทั้งคน ไม่ได้ดูแลแบบแยกปัญหาสุขภาพออกเป็นส่วนๆ และเป็นการดูแลที่ต่อเนื่อง ตลอดทุกช่วงวัยตั้งแต่ไม่ป่วยจนกระทั่งเมื่อต้องได้รับการดูแลในระยะสุดท้าย โดยใช้หลักการดูแลที่มีประชาชนเป็นฐานและ มีความร่วมมือของครอบครัว เครือข่ายบริการ และองค์กรรัฐอื่นๆ ตลอดจนองค์กรชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน
ในโอกาสครบรอบ 40 ปี หลังการประกาศเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน ในปี 2561 มีการประชุมเพื่อทบทวนผลความคืบหน้าการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐาน และ การดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิในประเทศทั่วโลก ที่เมืองอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งผลการประชุมประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังยืนยันหลักการเดิมที่เชื่อมั่นว่าการสร้าง ความเข้มแข็งของการสาธารณสุขมูลฐาน เป็นแนวทางที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี โดยเน้นย้ำในประเด็นการพัฒนานโยบาย ที่คำนึงภาวะสุขภาพ (Health in all policies) การทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ที่นอกเหนือจากสาธารณสุขและการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ ตอบสนองและยืดหยุ่น ระบบสุขภาพที่ค่าใช้จ่ายเป็นธรรม เท่าเทียมและสร้างความมั่งคั่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ระบบบริการปฐมภูมิ และระบบสุขภาพชุมชนจะสำเร็จและเห็นผลได้ดีนั้น ส่วนหนึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างเข้าใจ เน้นการสร้างการมีส่วนร่วม ในหลากหลายลักษณะและหลากหลายประเด็น เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการดำเนินการ บวกกับบริบทสังคม แบบแผนการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้โรคเรื้อรังกลายเป็น ปัญหาสำคัญการประชุมวิชาการในครั้งนี้จึงเน้นการดูแลผู้เป็นโรคเรื้อรัง เป็นประเด็นนำการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดบริการที่ทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการนำหลักคิดระบบสุขภาพชุมชนมาประยุกต์ใช้อย่างเห็นผล ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคท้องถิ่นที่ให้ โอกาสและความรู้ในการดำเนินการ และที่สำคัญที่สุดคือ พลังใจและพลังกายจากคนในชุมชน ที่มุ่งหวังให้ชุมชนอันเป็นที่รักเกิดการพัฒนา เป็นสังคมสุขภาวะที่ทุกภาคส่วนที่ เกี่ยวข้องต้องพร้อมรับมือ และสามารถปรับตัวและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน ดังนั้นเพื่อเป็นการเปิดเวทีสื่อสาร เปิดมุมมองสะท้อนคิด สร้างแรงบันดาลใจ แลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานระหว่างบุคลากรจากหน่วยงานปฏิบัติ หน่วยงานบริหาร และหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนร่วมกับองค์กรภาคีจึงได้จัดประชุมวิชาการครั้งนี้ขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่เครือข่ายแห่งการเรียนรู้ เผยแพร่ ถ่ายทอดแนวคิด บทเรียน ประสบการณ์การดำเนินงานที่ดีมีความสำเร็จ ตลอดจนความท้าทายใหม่ๆที่ต้องการการพัฒนาให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง และนำสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาระบบงาน ของแต่ละส่วน ส่งผลให้เกิดระบบบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพและระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนให้เกิดสุขภาวะของคนไทยทั้งประเทศต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพชุมชน บนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคี ภาคส่วนต่างๆ 2. เพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพชุมชน “การจัดการใหม่ในพลวัตสังคม” 3. เพื่อประสานความร่วมมือเครือข่ายที่มีความสนใจในเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพ และตอบสนองกลุ่มประชาชนเป้าหมาย ภายใต้นโยบายที่สอดคล้องกับการ ขับเคลื่อนในพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายประมาณ 700 คน ประกอบด้วย 1. ทีมนำในพื้นที่ภายใต้การดำเนินงานโครงการต่างๆของ มสพช. และองค์กรภาคี - เครือข่ายทำงานด้านผู้สูงอายุ - เครือข่ายทำงาน NCDs (พชอ. เครือข่ายผู้จัดการระบบ เครือข่ายผู้จัดการรายกรณี) - เครือข่ายทำงานจากโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ/เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน - เครือข่าย Wellness Center - เครือข่ายทำงานในสถานประกอบการ - เครือข่ายเหล้า บุหรี่ - เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน และคณะกรรมการกองทุนฯที่เกี่ยวกับสปสช. - เครือข่ายคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) 2. องค์กรปกครองท้องถิ่นที่สนใจ 3. นักวิชาการ สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ และองค์กรสภาวิชาชีว 4. ผู้บริหารจากองค์กรนโยบายที่เกี่ยวข้อง 5. ทีมวิทยากร/ผู้เชี่ยวชาญ/คณะทำงาน
รูปแบบการประชุม
เวทีประชุมระดับประเทศนำเสนอทิศทางการพัฒนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำเสนอผลการสังเคราะห์บทเรียนของงานพื้นที่ที่มีการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนในหลากหลายลักษณะ และหลากหลายประเด็น และเชื่อมโยงการขับเคลื่อนงานที่เป็นนโยบายปัจจุบัน
รูปแบบการประชุม จะประกอบด้วยการบรรยาย การเสวนา การประชุมเชิงปฏิบัติการตามเหมาะสมกับขอบเขตเนื้อหา ทั้งในห้องประชุมใหญ่ ห้องประชุมย่อย โซนนิทรรศการ และลานกิจกรรม เสวนาแลกเปลี่ยนตามประเด็น
เนื้อหาเวทีวิชาการ
Theme: “การจัดการสุขภาพแนวใหม่ เพื่อเผชิญ NCDs ท่ามกลางสังคมพลวัต”
Transformative Management for People-centered Care under Dynamic Society
Sub Theme:
Transformative Management for People-centered Care under Dynamic Society |
Challenging issues in NCDs, Aging, Social diversity |
ผลที่คาดหวัง
1. ผู้เข้าร่วมประชุมได้แรงบันดาลใจ เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนเพื่อการปรับประยุกต์ใช้
2. ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นประเด็นนโยบายจากส่วนกลาง และการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนงานตามบริบท
3. เกิดพื้นที่วิชาการนำเสนอองค์ความรู้และการขยายผลระหว่างเครือข่ายพื้นที่และเครือข่ายประเด็นการดำเนินงานระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพชุมชน
สถานที่จัดประชุมโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ระยะเวลา ระหว่างวันที่ 6– 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
งบประมาณ
ค่าจัดประชุม บางส่วนใช้งบประมาณโครงการที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และค่าลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมจากผู้สนใจ
ค่าลงทะเบียน
ค่าลงทะเบียน 2,500 บาท (full registration)
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในส่วนผู้เข้าประชุม (ค่าที่พัก/ค่าพาหนะ/ค่าเบี้ยเลี้ยง) ให้เบิกจ่ายตามสิทธิราชการจากหน่วยงานต้นสังกัด
องค์กร/หน่วยงานที่รับผิดชอบและสนับสนุนการจัดประชุม
· มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
· กระทรวงสาธารณสุข : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส),
สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.)
สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.)
สำนักบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย (สสว.)
· กระทรวงศึกษาธิการ : สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
(กศน.)
· สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
· สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
· สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
· ภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
· กระทรวงวิทยาศาสตร์ : ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์
· มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
· สมาพันธ์เครือข่าย NCDsประเทศไทย (NCDs Alliance)
· สมาคมแพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป/ เวชศาสตร์ครอบครัว แห่งประเทศไทย
· มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอิสาน
หน่วยงานรับผิดชอบประสาน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.)